เงาะ มังคุด ทุเรียน
ไม้ผลทั้ง ๓ ชนิดนี้เป็นพืชพื้นถิ่นประจำปลายคาบสมุทรมลายูและเกาะใหญ่ใกล้เคียงอย่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา เมื่อเป็นพืชดั้งเดิมของคาบสมุทรมลายู คำภาษามาเลย์ที่ใช้เรียกไม้ผลทั้ง ๓ ชนิดนี้จึงเป็นที่มาของคำเรียกไม้ชนิดเดียวกัน รวมทั้งผลของไม้ทั้ง ๓ ชนิดในเกือบทุกภาษา
ภาษามาเลย์ เรียก มังคุด ว่า manggusta(n) มีรูปแปรเป็น manggista และ manggis (ภาษาชวาก็ใช้รูปนี้) ด้วย ภาษาอังกฤษยืมคำภาษามลายู manggustan ผ่านภาษาดัตช์ (mangostane) หรือภาษาโปรตุเกส (mangostim) จึงกลายเป็น mangosteen ภาษาไทยกลางตัดพยางค์ท้าย -an ในคำภาษามาเลย์ออก แล้วออกเสียงอย่างไทย จึงกลายเป็น มังคุด (manggustan > manggustØ > mangkhut3)
มีเรื่องเล่าอธิบายประวัติคำทำนองลากเข้าความ (folk etymology) ว่า ฝรั่งคนหนึ่งเดินทางเข้ามาในสยาม เห็นมังคุดรูปร่างแปลกตา จึงถามแม่ค้าว่า ผลไม้นี้เรียกว่าอะไร แม่ค้าว่า มังคุด ฝรั่งออกเสียงเลียนตามว่า mango แม่ค้าแย้งว่าไม่ใช่ mango คือ มะม่วง แต่นี่เป็นมังคุด ฝรั่งยังคงเลียนเสียงทวนตาม mango อีก ไม่ว่าแม่ค้าจะออกเสียงที่ถูกต้อง ช้าและชัดเพียงใด ฝรั่งรายเดิมก็ยังคงทวนว่า mango เมื่อความอดทนของแม่ค้าสิ้นสุดลง จึงโพล่งออกไปว่า “mango ส้นตีนมึงนะสิ” ฝรั่งจึงว่า “Oh! I see. It’s a mangosteen, not a mango.” เรื่องจึงยุติ เป็นอันว่า มังคุดได้คำเรียกภาษาอังกฤษว่า mangosteen (mango ส้นตีน)
เรื่องเล่านี้หลายคนเชื่ออย่างจริงๆ จังๆ ผู้เขียนได้ยินครั้งแรกจากปากครูสอนภาษาอังกฤษสมัยอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ เวลานั้นเคยอ่านพบมาก่อนแล้วว่า มังคุดมาจากคำภาษามลายู จึงถาม ( = ท้วง) ครูว่า “เรื่องที่ครูเล่านี่จริงหรือ” (ตอนนั้นใจคิดแต่ว่า ไม่ต้องการให้ครูเสียหน้า จึงได้งดวาจาเสีย) ครูตอบกลับมาว่า “จริงสิ ครูของครูเล่ามาอีกทีหนึ่ง” ไม่กี่วันมานี้ ผู้เขียนก็ได้ยินเรื่องนี้อีกครั้ง จึงได้แต่ทำใจว่า เห็นทีคนไทยคงจะเล่าเรื่องนี้กันต่อไปจนถึงกัลปาวสาน
ภาษามาเลย์ เรียก ทุเรียน ว่า durian มาจากคำว่า duri แปลว่า ‘หนาม’ หน่วยท้ายศัพท์ (suffix) -an เติมเข้าไปเพื่อบอกความเกี่ยวข้องกับคำหรือรากศัพท์ที่อยู่ข้างหน้า ดังนั้น durian จึงแปลว่า ‘ผลไม้มีหนาม’ ภาษาอังกฤษยืมไปและใช้รูปเดียวกับภาษามาเลย์ คือ durian ภาษาจีนกลางออกเสียง d- ไม่ได้ จึงเปลี่ยนเปลี่ยนเสียง l- คำภาษามาเลย์ durian จึงกลายเป็นคำภาษาจีนกลาง liúlián (榴蓮) ส่วนภาษาไทยใช้ว่า ทุเรียน ไม่ได้ใช้ *ดูเรียน แสดงให้เห็นว่า ภาษาไทยยืมคำภาษามาเลย์คำนี้ไปตั้งแต่สมัยที่ รูป ท- ในภาษาไทยยังออกเสียงเป็น /d-/ ต่อเมื่อภายหลัง จึงได้กลายเป็นเสียง /th-/ (ท *d- > th-) ภาษาจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยออกเสียงตามภาษาไทยว่า โถ่ว-เลี้ยง
ส่วนเงาะนั้นแปลกสักหน่อย เพราะภาษาไทยกลางไม่ได้ยืมคำภาษามาเลย์มาใช้ ภาษาใต้หลายถิ่นก็ใช้คำเดียวกับภาษาไทยกลาง เพียงแต่เติมคำ ลูก- เข้าข้างหน้าเป็น ลูกเงาะ เรียก ลูกผมเงาะ ก็มี บางถิ่นอาจออกเสียง /ง-/ เป็น /ฮ-/ ลูกเงาะ / ลูกผมเงาะ จึงกลายเป็น ลูกเฮาะ / ลูกผมเฮาะ มีบ้างบางถิ่นใช้คำภาษามลายู rambutan แต่ตัดพยางค์ท้าย -an ออก กลายเป็น ราโบด (rambutan > rambutØ > raØboːtØ > raːboːt1)
คำที่หมายถึง เงาะ ภาษาชวา-มาเลย์ใช้ว่า rambutan มาจากคำว่า rabut แปลว่า ‘ผม’ กับหน่วยท้ายศัพท์ -an (เช่นเดียวกับ -an ใน durian) ดังนั้น rambutan จึงแปลตามศัพทมูลได้ว่า ‘ผลไม้มีผม’ ภาษาอังกฤษเรียก rambutan ตามภาษามาเลย์ อาจยืมผ่านภาษาโปรตุเกสก็ได้ ส่วนภาษาจีนถอดเสียงไปเป็น hóngmáo dān (紅毛丹) ภาษาจีนถอดเสียงคำนี้ได้ดี ได้ทั้งเสียงและความ คือ สองคำแรก (紅毛 hóngmáo) แปลว่า ‘ขนสีแดง’ รับกับลักษณะของผลไม้ชนิดนี้ เพราะเปลือกของผลเมื่อสุกมีสีแดงและมีขนอยู่เต็ม
ลูกเงาะ เกิดก่อน เจ้าเงาะ / เงาะป่า เมื่อเรารู้จักคนป่าเผ่า Sakai / Semang / Mani(q) เห็นว่าผมหยิกเหมือนลูกเงาะ จึงได้เรียกคนเผ่านี้ว่า เงาะป่า หรือเรียกให้เพลาเหยียดลงหน่อยว่า เจ้าเงาะ นักเรียนวรรณคดีไทยจะคุ้นเคยคำทั้งสองนี้ดีจากบทละครนอกพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ เรื่อง สังข์ทอง และพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕ เรื่อง เงาะป่า เรื่องหลังแน่ชัดว่าเป็นเรื่องราวของคนเผ่า Sakai ส่วนเรื่องแรกนิยมใช้กันมาเช่นนั้น เมื่อได้ตรวจสอบปัญญาสชาดกฉบับภาษาบาลีเรื่อง สุวณฺณสงฺขชาตก ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องสังข์ทองก็พบว่า ฉบับภาษาบาลีใช้คำว่า วนนร ไปทุกแห่ง มิได้หลากคำเป็นอื่นเลย วนนร แปลตรงๆ ว่า ‘คนป่า, คนเถื่อน’ ไม่ได้เจาะจงว่าเป็น เงาะป่าซาไก แสดงว่า ในโลกทัศน์ของคนอยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อกล่าวถึง ‘คนป่า’ ในสัญญาก็ปรากฏแต่ เงาะป่าซาไก
สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถทรงปรับปรุงพิกัดเก็บภาษีหลายประการ และหนึ่งในนั้น คือ รับสั่งให้ “นาย” สำรวจสวนของ “ไพร่” ในสังกัดว่า ไพร่แต่ละคนมีไม้ผลกันมากน้อยเพียงใด แล้วมีพระบรมราชโองการให้เก็บภาษีไม้ผลจากบรรดาไพร่ทั้งหลายในอัตรา ๑ ต้น ๑ เฟื้อง ( = ครึ่งสลึง) นโยบายเก็บภาษีไม้ผลของรัฐครั้งนี้ทำให้เกิดกระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์โดยไม่ตั้งใจ กล่าวคือ ไพร่บ้านพลเมืองทั้งหลายต่างก็ฟันไม้ผลในสวนของตนลงเสียมาก ต้นไหนแคระแกร็น ต้นไหนโทรม ต้นไหนอายุมาก ต้นไหนไม่ออกลูก ออกน้อย หรือออกลูกมากแต่รสชาติไม่ดี ก็ฟันทิ้ง เหลือไว้แต่ต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง ลูกดก และรสชาติดี ปรากฏว่า เงาะ มังคุด ทุเรียน รวมทั้งผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ ของไทยมีรสชาติดีกว่าและคุณภาพดีกว่าผลไม้ประเภทเดียวกันที่ปลูกในประเทศเพื่อนบ้านชนิดที่เรียกว่า ประเทศเพื่อนบ้านไม่อาจสู้ไทยได้ แม้แต่ประเทศที่เป็นภูมิถิ่นกำเนิดสายพันธุ์ก็ตาม เพราะประเทศอื่นๆ ยังคงปลูกกันแบบทิ้งขว้างและมิได้คัดเลือกสายพันธุ์ แม้ภายหลังจะเร่งปรับปรุงพันธุ์ให้ทัดเทียมรสชาติและคุณภาพของผลไม้ที่ปลูกในประเทศไทย แต่ก็ไม่ทันกาลเสียแล้ว นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่ชวา-มลายูเป็นถิ่นกำเนิด แต่กลับมีจำนวนสายพันธุ์ย่อย (cultivar) สู้ไทยไม่ได้ อย่างทุเรียน อินโดนีเซียมีประมาณ ๑๐๐ สายพันธุ์ แต่ไทยมีมากถึง ๓๐๐ สายพันธุ์ น่าเสียดายที่สมัยหลัง ผู้คนนิยมบริโภคกันแต่พันธุ์หมอนทอง ชะนี และก้านยาว พันธุ์ทุเรียนไทยจึงสูญไปใช่น้อยเลย
ข้อเขียนโดย: ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล