ร้อยกรอง – ลองอ่าน
: สาระความรู้และกลวิธีการอ่านบทร้อยกรองที่ครูภาษาไทยและนักเรียนมัธยมศึกษาทุกคนควรอ่าน
ทองใบ แท่นมณี
นักเรียนระดับมัธยมศึกษาหรือเตรียมอุดมศึกษา (ม. ๗ – ม.๘) ในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นนักเรียน ได้รับการฝึกฝนในการอ่านร้อยกรองค่อนข้างมาก ประมาณว่าน่าจะมากกว่านักเรียนสมัยนี้ ทั้งยังมีบทอาขยานให้ท่องด้วย ครูรุ่นเก่าจะเคี่ยวเข็ญในการอ่านบทร้อยกรอง และมีบททดสอบที่นำมาจากวรรณคดีต่าง ๆ มาทดลองให้อ่านดูว่า บททดสอบบางคำ – บางวรรค ลองให้นักเรียนสมัยนี้อ่านก็เห็นว่าอ่านกันไม่ใคร่ถูกเป็นส่วนมาก บางคนเรียนสูงกว่ามัธยมก็ยังอ่านไม่ค่อยถูกและบ่นว่าไม่เคยสัมผัสบทเรียนอย่างนี้มาก่อน ในที่นี้จะทดลองเสนอบทร้อยกรองตัวอย่างให้ทดลองอ่านดูและประเมินว่าศิษย์ของท่านอ่านถูก – อ่านเป็นมากน้อยเพียงใด ดังนี้
๑. กระจิริด คำนี้พจนานุกรมฯ เดิมไม่ได้บอกเสียงอ่าน แต่พจนานุกรมฯ ปัจจุบัน ให้อ่านว่า กฺระ – จิ – หฺริด แต่คนส่วนมากมักอ่านว่า กฺระ – จิ – ริด ตัวอย่างที่มักอ่านผิด เช่น
– ไอ้วานรตัวนี้กระจิริด แต่มีฤทธิ์กว่ายักษ์หนักหนา (รามเกียรติ์ ร. ๒)กลอนนี้ถ้าใครยังอ่านว่า กฺระ – จิ – ริด ก็แปลว่ายังอ่านไม่เป็น เพราะจะไปซ้ำเสียงกับคำว่า ฤทธิ์ ในวรรคต่อไป
๒. กรรุณา คำนี้พจนานุกรมฯ ให้อ่าน กฺระ – รุ – นา ทำนองว่าแผลง กะ เป็น กระ ตามหลักการแผลงอักษร แต่ในบทร้อยกรองเข้าใจว่าท่านให้อ่านว่า กัน – รุ – นา เช่น
– เหมือนพระจันทร์กรรุณาให้ตายาย (รำพันพิลาป)
– ถึงกระนั้นกรรุณาเมตตาน้อง (พระอภัยมณี)
– แม้นรักใครให้คนนั้นกรรุณา (นิ. วัดเจ้าฟ้า)
ดังนี้ จะเห็นได้ว่า อ่านว่า กัน – รุ – นา ได้สัมผัสในดีกว่า อนึ่ง ในหนังสือโบราณ เช่น กฎหมายตราสามดวง (ซึ่งเป็นร้อยแก้ว) ก็ยังให้อ่านว่า กัน – รุ – นา เช่น ทรงพระกรรุณา เป็นต้น คำพิพากษาหน้าพระที่นั่ง ร. ๓ จ.ศ. ๑๑๙๒ (พ.ศ. ๒๓๗๓) พิพากษาเรื่อง หญิงเพชรบุรีปลอมเป็นพระองค์เจ้าเกษร ในคำพิพากษาก็เขียนคำอ่านไว้ว่า กัน – รุ – นา (กัรรุณา มีไม้หันอากาศด้วย) อนึ่ง หนังสือกลอนเก่า ๆ ที่เขียนตามเสียงอ่านก็ใช้ กันรุณา เช่น กลอนสวดเรื่อง โสวัตกุมาร เป็นต้น
๓. สัประยุทธ์ คำนี้ พจนานุกรมฯ ให้อ่าน สับ –ปฺระ – ยุด แต่ในบทร้อยกรองที่เป็นวรรครับจะอ่านอย่างนั้นไม่ได้เพราะในวรรคนี้ต้องอ่านชักเสียงให้สูงขึ้นเป็นเสียงเอก ว่า สับ – ปฺระ – หฺยุด เช่น
– ปีกขวาปีกซ้ายออกรายรับ เคี่ยวขับรณรงค์ยงยุทธ์
ต่างเข้ารุกโรมโถมแทง ไม่ย่อท้อต่อแย้งสัประยุทธ์ (อิเหนา)
ดังนี้ จะเห็นว่า คำนี้ต้องอ่านว่า สับ – ปฺระ – หฺยุด แน่นอน เพราะกลอนวรรคส่งมีคำว่า ยงยุทธ์ อ่านว่า ยง – ยุด อยู่แล้ว อนึ่ง คำนี้คำโบราณจริง ๆ ท่านก็อ่านว่า สับ – ปฺระ – หฺยุด แม้แต่ในร้อยแก้ว เช่น กฎหมายตราสามดวง ก็ใช้อยู่ดาษดื่น ในหนังสือโบราณเขียนมี ห นำอยู่ด้วย
๔. อัปยศ คำนี้ก็เช่นกัน พจนานุกรมฯ ให้อ่านว่า อับ – ปะ – ยด แต่ในกลอนวรรครับ ต้องอ่านว่า อับ – ปะ – หฺยด เช่น
– บัดนี้เล่าเขาก็พาเอามาได้ เกรงจะให้ย่อยยับอัปยศ
จะรีบรบพบองค์พระทรงยศ หรือจะงดรอรั้งคอยฟังความ (พระอภัยมณี)
ดังนี้ คำว่า อัปยศ ต้องอ่านว่า อับ – ปะ – หฺยด แน่นอน เพราะเป็นกลอนวรรครับต้องอ่านเป็นเสียงเอก อนึ่ง คำนี้ ในหนังสือเก่าในกฎหมายตราสามดวง ถึงเป็นร้อยแก้วก็ให้อ่านว่า อับ – ปะ – หฺยด โดยโบราณเขียนว่า อัปหยศ ทีเดียว (มี ห นำกำกับ)
๕. อักนิษฐ์ คำนี้ พจนานุกรมฯ ให้อ่านว่า อัก – กะ – นิด แต่ในกลอนวรรครับ ต้องอ่านว่า อัก – กะ – หฺนิด เช่น
– พระสังข์ไม่พรั่นครั่นคร้าม เหาะตามติดพันกระชั้นชิด
บัดนั้น ประชาชนคนดูอักนิษฐ์
เห็นเหาะทั้งสองข้างต่างมีฤทธิ์ ให้คิดพิศวงงงงวย (สังข์ทอง)
๖. อัปลักษณ์ คำนี้ก็เช่นกันในที่ปกติให้อ่านว่า อับ – ปะ – ลัก แต่โบราณจริง ๆ ท่านว่า อับ- ปะ – หฺลัก เช่น ตัวอย่างใน พระอัยการวิวาทด่าตี ซึ่งอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นร้อยแก้วก็ยังให้อ่านว่า อับ – ปะ – หฺลัก โดยเขียนมี ห นำ เป็นหลักฐาน โปรดดูบทกลอนต่อไปนี้
– อันชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
(ร. ๖ ในเวนิสวาณิช)
หรือ – ช่วยสอนสั่งทั้งเก้าว่าเจ้าปลง ให้เห็นตรงลงในพระไตรลักษณ์
อันรูปเหมือนเรือนโรคโสโครกครบ เครื่องอาศภสูญกลับอัปลักษณ์ (สิงหไกรภพ)
จะเห็นว่าคำว่า อัปลักษณ์ ในกลอนทั้งสองนี้ต้องอ่านว่า อับ – ปะ – หฺลัก แน่นอน ตามระดับเสียงกลอนในวรรครับ
๗. การอ่านเพื่อเอื้อสัมผัสหรือข้อบังคับ ผู้อ่านร้อยกรองเป็นต้องรู้จักอ่านให้ได้สัมผัสหรือถูกต้องตามข้อบังคับของบทประพันธ์นั้น ๆ เช่น
– ขอเดชะพระนารายณ์อยู่สายสมุทร พระโพกภุชงค์เฉลิมเสริมพระเศียร (รำพันพิลาป)
คำว่า ภุชงค์ ตามปกติอ่านว่า พุ – ชง แต่ในที่นี้ต้องอ่านให้สัมผัสกับ สมุทร ว่า พุด – ชง
– ขวัญพ่อพลายงามทรามสวาท มาชมภาชนะทองอันผ่องใส (ขุนช้างขุนแผน)
คำว่า ภาชนะ ในที่นี้ต้องอ่านว่า พาด – ชะ – นะ เพื่อรับสัมผัสกับคำว่า สวาท
– โอ้ไม่ถึงครึ่งชาติสิ้นญาติ อโหสิจะสู้บวชจนหนวดขาว
(นิ. พระแท่นดงรัง ฉบับเณรกลั่น)
ในที่นี้ คำว่า ญาติ ต้องอ่านว่า ยาด – ติ เพื่อสัมผัสกับคำว่า อโหสิ และให้กลอนมีจำนวนคำครบ ๘ คำ
– แบ่งบุญสุนทรเชื้อ ชินวงศ์ (โคลงนิ. สุพรรณ)
โคลงบาทนี้ผู้อ่านไม่เป็นจะอ่านคำว่า สุนทร ว่า สุน – ทอน ซึ่งไม่เป็นเสียงเอก (ในที่นี้เป็นคำตายแทนเสียงเอก) ส่วนผู้รู้ข้อบังคับของโคลง จะอ่านว่า สุน – ทะ – ระ เพื่อให้ส่วนของคำว่า ทร เป็นเสียงคำตาย
– ซ้ำไพเราะน้ำเสียง อรเพียงภิรมย์ประเลง (มัทนะพาธา)
บทประพันธ์นี้เป็นอินทรวงศ์ ฉันท์ ๑๒ คำว่า อร เป็นเสียง ลหุ ต้องอ่านว่า อะ – ระ จะอ่านว่า ออน หรือ ออ – ระ ไม่ได้ เพราะจะไม่ครบคณะฉันท์และไม่เป็นเสียง ลหุ
ฯลฯ
๘. การอ่านแบ่งจังหวะวรรคตอน นอกจากการอ่านเป็นคำ ๆ แล้ว การอ่านโดยแบ่งจังหวะเพื่อสัมผัสในวรรคก็สำคัญ และเป็นตัวชี้ว่า อ่านร้อยกรองเป็นมากน้อยเพียงใด โปรดสังเกตและอ่านกลอนวรรคต่อไปนี้
๘.๑ อภิวันท์ลาบาทพระชินวร ผู้อ่านโดยทั่วไปจะอ่านตามจังหวะธรรมดาว่า
“อภิวันท์ ลาบาท พระชินวร” แต่อ่านเพื่อให้ได้สัมผัสจะต้องอ่านว่า “อภิวันท์ ลาบาทพระ ชินวร” (นิ. พระบาท)
๘.๒ ครานั้นสมเด็จพระพันวสา กลอนเสภาวรรคนี้ก็เช่นกัน ผู้ขับพื้น ๆ จะขับว่า
“ครานั้น สมเด็จ พระพันวสา” แต่ผู้ขับอาชีพจะขับว่า “ครานั้น สมเด็จพระ พันวสา” ซึ่งจะได้สัมผัสดีกว่า (ขุนช้างขุนแผน)
๘.๓ นี่แม่ยายแล้วสิริให้ กลอนบทละครนี้จุดเน้นอยู่ที่คำว่า สิริ โดยปกติคนจะอ่านว่า สิริ (คำเดียว ๒ พยางค์) แต่ในที่นี้เป็น ๒ คำ คือ สิ (ซิ) และ ริ จึงต้องอ่านว่า “นี่แม่ยาย แล้วสิ ริให้” จึงจะถูกต้องตามบริบทและใจความของละครตอนนี้ (สังข์ทอง)
๘.๔ เขียนมาเต็มเล่มแล้วจะสิ้นสมุด กลอนวรรคนี้ลองให้เด็ก ๆ อ่าน เกือบทุกคนจะอ่านว่า “เขียนมาเต็ม เล่มแล้ว จะสิ้นสมุด” แต่ถ้าจะอ่านให้ได้สัมผัสจะต้องปรับวรรคตอนว่า “เขียนมาเต็ม เล่มแล้วจะ สิ้นสมุด” (รำพันพิลาป)
ฯลฯ
๙. กลอนที่มีผู้แก้ไข ในการพิมพ์วรรณคดียุคใหม่บางสำนักพิมพ์นิยมปรับอักขรวิธีให้เป็นแบบปัจจุบันพื่อคนรุ่นใหม่จะได้เข้าใจง่าย (ซึ่งมีทั้งคุณและโทษ) หรือบางทีผู้พิมพ์ซึ่งสักว่าเป็นผู้พิมพ์หนังสือเป็น แต่ไม่เข้าใจเรื่องกลอนคิดว่าต้นฉบับผิดก็แก้ไขให้เสียเอง ตัวอย่างที่พบ เช่น
– พระฤๅษีมีพรตประทษร้าย (พระอภัยมณี) ผู้พิมพ์นึกว่าคำว่า ประทษ ตกสระ อุ ก็ใส่ให้เป็น ประทุษ ทำให้กลอนของท่านเสียสัมผัส
– จะลาพรตอตส่าห์พยายาม (พระอภัยมณี) ผู้พิมพ์เห็นคำว่า อตส่าห์ นึกว่าตกสระ อุ ก็ใส่ให้เป็น อุตส่าห์ เหมือนคำปกติ ทำให้กลอนของท่านเสียสัมผัส
– ฤๅษีสาวดาวบสแสนอดสู (พระอภัยมณี) ผู้พิมพ์นึกว่าคำว่า ดาวบส ผิด ก็แก้เป็น ดาบส คำให้กลอนเสียสัมผัส
การแก้ทำนองนี้บางครั้งเป็นการแก้ทั้งวรรค เช่น ในสมัย ร. ๕ – ร. ๖ ยุคที่มีการพิมพ์พระอภัยมณีใหม่ ๆ มีกลอนวรรคหนึ่งในพระอภัยมณี (ตอนครองเมืองผลึก ซึ่งเป็นแบบเรียน ม. ๓) สมัยเก่า ของเดิมในต้นฉบับที่เป็นตัวเขียนว่า “นิราแรมรสรักนางอักษร” หรือบางฉบับเป็น “นิราแรมรสรักดังอักษร” แต่มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจคุมหอพระสมุดฯ สมัยนั้นเห็นว่าใช้คำว่า อักษร ผิด แก้เป็นอัปสร และแก้คำว่า รสรัก เป็น รสลับ กลอนวรรคนี้จึงเป็น “นิราแรมรสลับนางอัปสร” และฉบับพิมพ์ทั้งหลาย ตั้งแต่สมัย ร. ๕ – ร. ๖ เป็นต้นมา ก็แก้ไขเป็นอย่างนี้หมดทั้งสิ้น ยกเว้นแต่ต้นฉบับตัวเขียน (สมุดข่อย) ซึ่งอยู่ในแผนกอักษรโบราณในหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งยังคงคำเดิมไว้
สุนทรภู่ใช้คำว่า “อักษร” เพื่อสัมผัสกับคำว่า “รสรัก” หรืออีกนัยหนึ่งตามเนื้อหาในพระอภัยมณีตอนนี้กล่าวถึงนางสุวรรณมาลีซึ่งหนีไปบวช นางสุวรรณมาลีไม่ใช่เป็นนางอัปสร ซึ่งแปลว่า นางฟ้า เป็นแต่เพียงนางกษัตริย์ซึ่งเป็นคนธรรมดา ในอีกต้นฉบับหนึ่งจึงใช้คำว่า “ดังอักษร” ซึ่งแปลทำนองว่า “ดังข้อความที่กล่าวมา” นั่นเอง ได้ถ่ายเอกสารในต้นฉบับตัวเขียนมาเป็นหลักฐาน ดังต่อไปนี้
หลักฐานจากเอกสารโบราณฉบับตัวเขียนที่ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง
สรุป
๑. การอ่านร้อยกรอง นอกจากอ่านให้ถูกต้องตามอักขรวิธีแล้ว ยังต้องอ่านให้ถูกต้องตามข้อบังคับของบทประพันธ์นั้น ๆ คำบางคำอ่านปกติอย่างหนึ่ง แต่อาจจะต้องอ่านเพื่อเอื้อฉันทลักษณ์และเอื้อสัมผัสอีกอย่างหนึ่ง และการแบ่งวรรคตอนจะต้องเป็นไปเพื่อเอื้อสัมผัสด้วย
๒. การพิมพ์หนังสือวรรณคดีหากจำเป็นต้องแก้อักขรวิธี ควรแก้แต่เพียงรูปคำให้เสียงคำคงเดิม มิฉะนั้นจะผิดสัมผัส อนึ่ง คำที่ใช้ในต่างสมัยกันควรคงไว้แบบเดิม แต่ทำเชิงอรรถอธิบาย ให้เป็นความรู้ในเชิงวิวัฒนาการของภาษาแก่ผู้เรียน
๓. ไม่ควรแก้ถ้อยคำที่กวีใช้เพียงเพื่อให้ถูกต้องตามหลักอักษรศาสตร์ แต่ต้องคำนึงถึงวรรณศิลป์ด้วย มิฉะนั้นแทนที่จะเป็นการผดุงวรรณคดีก็จะกลายเป็นเผด็จวรรณคดี ดังได้พบเห็นบ้างแล้วในการพิมพ์วรรณคดีในยุคนี้