ภาษาเกิดใหม่ ใช้ได้แต่ให้เหมาะสม
“ เรารักเธอจุงเบย บ่องต่ง แบบว่า รักแบบฝุดๆ อ่ะ… ” ในยุคเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดนผนวกกับกระแสของภาษาที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าคำ ๓ คำ คือ จุงเบย บ่องตง และฝุดๆ ซึ่งมักจะได้ยินกันอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดในเพลงลูกทุ่ง เพลงสตริงก็ยังมี เช่นเพลง เจ็บจุงเบย แบบเสมอ (จุงเบย) และอีกมากมาย
นับวันภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวันของบางกลุ่มบางพวกเริ่มจะแปลกไปทุกทีจึงจะขอเล่าประสบการณ์ว่า คำและถ้อยคำเป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นใช้ในสังคม มีผู้ริเริ่มขึ้นใช้บ้าง มีคณะบุคคลร่วมกันกำหนดบ้าง เช่น หน่วยงานราชการมีราชบัณฑิตยสถาน เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีคำใหม่ๆเกิดขึ้น อาจเป็นคำที่เป็นภาษาทางการบ้าง ภาษากึ่งทางการบ้าง ภาษาปากหรือภาษาพูดบ้าง หรือเป็นภาษาสแลงบ้าง
ราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำ พจนานุกรมคำใหม่ ไว้ถึง ๓ เล่ม ที่รวบรวมคำเหล่านี้ไว้ มิได้ประสงค์ให้นำคำเหล่านี้ไปใช้ทั่วไป เพียงแต่เก็บคำเหล่านี้ไว้เป็นข้อมูล ยังไม่ได้นำมารวมอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า จุงเบย เป็นคำเพี้ยนเสียงจากคำว่า จังเลย และ บ่องตง เพี้ยนเสียงจากคำว่า บอกตรงๆ และฝุดฝุด เป็นคำเพี้ยนเสียงมาจากคำว่า สุดๆ ๓ คำนี้ยังไม่มีในพจนานุกรมคำใหม่ เนื่องจากเพิ่งเกิด ถ้าคำนี้ยังใช้กันต่อไป พจนานุกรมคำใหม่ เล่มที่ ๔ อาจจะเก็บไว้ก็ได้
บางคนใช้คำว่า สแลง แต่ไม่แน่ใจว่าสะกดอย่างไร คำว่า สแลง (สะ – แลง) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า ถ้อยคำหรือสำนวนที่ใช้เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม หรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่ใช่ภาษาที่ยอมรับกันว่าถูกต้อง มาจากภาษาอังกฤษ Slang
ส่วนคำว่า แสลง (สะ – แหลง) อ่านแบบอักษรนำ มีความหมายว่าไม่ถูกกับโรค เช่น แสลงโรค ขัด เช่น แสลงหู แสลงตา แสลงใจ ๑. อาการที่รู้สึกกระทบกระเทือนใจเหมือนถูกของมีคมบาดหัวใจ เช่น พอเห็นคนรักเก่าเดินไปกับหญิงคนใหม่ก็รู้สึกแสลงใจ และความหมายที่ ๒ เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง
ในขณะที่ภาษามีการเปลี่ยนแปลง มีคำใหม่เกิดขึ้น นักภาษาจะติดตามสำรวจ สะสมเป็นรายการไว้ หรือทำเป็นพจนานุกรมอย่างที่ราชบัณฑิตยสถานทำ การทำในช่วงแรกและพิมพ์หนังสือออกมาก็ถูกวิจารณ์เสียหายมาก ดังที่กล่าวมาแล้วว่า นักภาษามิได้สนับสนุนให้ใช้คำเหล่านี้โดยทั่วไป ถือเป็นภาษาใช้เฉพาะกลุ่ม แต่บางคนอาจหยิบมาใช้พอให้ครึ้มอกครึ้มใจ เข้ากับวัยรุ่นบ้างก็คงไม่เป็นไร ผู้เป็นครูต้องสอนนักเรียน หรือผู้ใหญ่ต้องสอนเด็กให้ใช้คำเฉพาะกลุ่มนี้อย่างเหมาะสม มิให้รุ่มร่ามไปใช้กับคนที่ไม่สนิทกัน หรือใช้กับผู้ใหญ่ เพราะบางคำไม่ได้เป็นคำคะนองเท่านั้น แต่เป็นคำที่ไม่สุภาพ ที่โบราณถือว่าเป็นคำต่ำก็มี จึงต้องใช้ภาษาให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล
วิทวัส ปาลอินทร์