นิราศสุพรรณ : ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของสุนทรภู่ในการแต่งโคลงสี่สุภาพ
คงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า คนส่วนใหญ่รู้จักสุนทรภู่ กวีเอกของไทย และกวีเอกของโลก ผู้นี้ ในฐานะผู้มีความเป็นเลิศในการแต่งกลอนสุภาพ ท่านได้รับสมญาว่าเป็น บิดาแห่งกลอนสุภาพ และเป็นผู้คิดค้นสัมผัสในของกลอนสุภาพที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
สุนทรภู่เป็นผู้ที่ได้ใช้กลอนเพลงสร้างสรรค์ผลงานทั้งประเภทนิราศ เพลงยาว และนิทาน จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเลื่องลือไปไกล นอกจากนี้ ยังมีผลงานด้านกาพย์ ได้แก่ บทเห่กล่อมพระบรรทม และกาพย์พระไชยสุริยา ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเช่นกัน ส่วนโคลงที่สุนทรภู่แต่งและมีบันทึกเป็นลายลักษณ์นั้น มีเพียงเรื่องเดียวคือ โคลงนิราศสุพรรณ ซึ่งเป็นโคลงผู้อ่านส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักมากนัก เนื่องจากมีความยาวถึง ๔๖๒ บท และไม่ได้มีการพิมพ์อย่างแพร่หลาย ทั้งผู้ที่เคยอ่านโคลงของสุนทรภู่ยังได้ตำหนิไปต่างๆ นานา เช่น ตำหนิว่าไม่ เอาใจใส่เรื่องข้อบังคับในการใช้คำเอกคำโท แต่งโคลงนิราศแบบแหวกขนบนิราศ กล่าวคือ ไม่ขึ้นต้นเรื่องด้วยร่ายสดุดี เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้นบางคนกล่าวว่าสุนทรภูไม่น่าแต่งโคลงเพราะเป็นการสร้างความด่างพร้อมให้แก่ชื่อเสียงของสุนทรภู่ในด้านการแต่งคำประพันธ์ ทั้งยังมีผู้สรุปว่าสุนทรภู่แต่งโคลงสู้กวีอื่นไม่ได้ เป็นต้น แต่หนังสือ นิราศสุพรรณ ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของสุนทรภู่ในการแต่งโคลงสี่สุภาพ เรียบเรียงโดยรองศาสตราจารย์ ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต เล่มนี้ เป็นงานวิจัยเชิงลึกที่ศึกษาโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่อย่างละเอียดถี่ถ้วนในทุกแง่มุมโดยอาศัยหลักการเชิงวิชาการ ประกอบกับฝีมือการเขียนงานวิชาการที่เชี่ยวชาญ ทำให้ผู้อ่านได้ทราบว่าแท้ที่จริงโคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่นั้นมีคุณค่ามากเพียงใด
จากผลการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้พบความมหัศจรรย์ในผลงานด้านโคลงของสุนทรภู่ กล่าวคือ งานวิจัยนี้ได้พบรูปแบบโคลงของสุนทรภู่ถึง ๓๐ แบบ และผลการวิจัยยังพบว่าสุนทรภู่ชอบแต่งโคลงแบบมีสัมผัสข้ามวรรคครบทั้ง ๔ บาทมากที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่า สุนทรภู่ยังแต่งโคลงกลบทไว้หลายชนิด ทั้งโคลงกลบทเดี่ยวและโคลงกลบทผสม ๒ ชนิด โดยโคลงกลบทเดี่ยวมี ๑๑ ชนิด ส่วนใหญ่เป็นโคลงกลบทที่มีมาแล้วแต่โบราณ แต่สุนทรภู่เพิ่มข้อบังคับพิเศษแบบโคลงสุนทรภู่เข้าไป ทำให้มีลักษณะพิเศษและต่างไปจากโคลงกลบทชื่อเดียวกันของกวีอื่น นอกจากนี้ สุนทรภู่ยังได้สร้างสรรค์โคลงกลบทขึ้นใหม่อีก ๒ ชนิด ทั้งยังได้สร้างสรรค์โคลงกลบทผสมขึ้น ๗ ชนิด ซึ่งเป็นชนิดที่ยังไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย อาจกล่าวได้ว่า สุนทรภู่ได้แสดงให้ประจักษ์ถึงความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ในการแต่งโคลง ซึ่งมีคุณค่าอย่างสูงทั้งในด้านศิลปะการนำเสนอและศิลปะการใช้ภาษา รวมถึงคุณค่าด้านสังคมและวัฒนธรรม โบราณคดี ภูมิศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา ซึ่งผู้วิจัยได้นำเสนออย่างน่าสนใจยิ่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. นิราศสุพรรณ : ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของสุนทรภู่ในการแต่งโคลงสี่สุภาพ. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : บริษัทธนาเพรส จำกัด, ๒๕๕๕. ๕๕๐ หน้า. ราคา ๓๙๐ บาท.
บทบรรณานิทัศน์ : ชยกฤต กิตติวรรณกร