ควรเรียก ปลาวาฬ หรือ วาฬ
คำนามเรียกชื่อสิ่งต่างๆ ในภาษาไทยมักจะมีคำบ่งบอกประเภทหรือชนิดของคำนามนั้นนำหน้า เช่น บอกว่าชื่อนั้นเป็นชื่อของ นก หนู งู ปลา ต้น ดอก เช่น
นกพิราบ นกกระจอก นกกระจาบ นกแก้ว นกกาเหว่า นกนางนวล นกเป็ดน้ำ ฯลฯ
หนูตะเพา หนูนา หนูผี หนูถีบจักร หนูพุก หนูท้องขาว ฯลฯ
งูเขียว งูเห่า งูดิน งูหม้อ งูสามเหลี่ยม งูลายสอ ฯลฯ
ปลาทู ปลาเข็ม ปลาเงิน ปลาทอง ปลาค้าร์พ ปลาวาฬ ปลาหมึก ฯลฯ
ต้นสน ต้นรัง ต้นเต็ง ต้นสัก ต้นเข็ม ต้นลำเจียก ต้นยาง ต้นข้าว ต้นหนามแดง ฯลฯ
ดอกเข็ม ดอกบานเช้า ดอกบานเย็น ดอกราตรี ดอกรัก ฯลฯ
ชื่อสิ่งต่างๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้ ในภาษาไทยจะมีคำนามนำหน้าประสมอยู่ด้วย ในหนังสือ สัตวาภิธาน ของรพยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มีคำกล่าวถึงปลาไว้ในคำบอกประเภทหรือชนิดของนาม คำที่นำหน้าชื่อทั้งหลายนั้นนับเป็นส่วนหนึ่งของชื่อซึ่งจะปรากฏกับชื่อเสมอ หมายความว่า คำนามที่เป็นชื่อจะไม่สามารถเรียกแต่ชื่อได้ ต้องมีคำนำหน้านามบอกประเภทหรือชนิดของนามไว้ด้วย เช่น คำในแม่กน มีข้อความว่า
ขึ้นกนต้นนามกร วารีจรมีนานา
ปลาวาฬขึ้นในวา รีโผนเผ่นเล่นชลธาร
กระเบนก็เบนหนี ปลาอินทรีหนีปลาวาฬ
ยี่สนก็ลนลาน ลี้กายาในสาคร
คำเรียกสิ่งต่างๆ ในแต่ละภาษาเป็นไปตามภาพ ความรู้สึก และมโนทัศน์ของผู้เป็นเจ้าของภาษา เช่น ชาวยุโรปคิดถึงขนมปังว่าเป็นอาหาร แต่คนไทยอาจมองขนมปังว่าเป็นขนม และเรียกว่า ขนมปัง จะตัดเรียกเฉพาะ ปัง เท่านั้นไม่ได้. ในมโนทัศน์ของคนไทย สัตว์ที่ว่ายน้ำได้ถ้าไม่ใช่กุ้ง ก็จะเรียกว่า ปลา ทั้งนั้น รวมทั้ง ปลาวาฬ ปลาหมึก ปลาพะยูน ปลาดาว ปลาโลมา หรือปลาฉลาม
ศาสตราจารย์กิตติคุ ดร.กาญจนา นาคสกุล